Saturday, May 12, 2012

รถเมล์ในแวนคูเวอร์


การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในแวนคูเวอร์นี่สะดวกและกะเวลาได้ เพราะรถไม่ติดและรถเมล์ที่นี่จะจอดป้ายตามตารางเวลา ความถี่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดประชากรที่ใช้บริการ ถ้าเป็นสายที่วิ่งในแหล่งชุมชน หรือในช่วงเวลาเร่งด่วน รถเมล์ก็อาจจะมาทุก 10 – 15 นาที แต่ถ้าอยู่ในย่านรกร้างห่างไกลหน่อย รถเมล์ก็อาจจะมาทุก ๆ 20 นาที หรือครึ่งชั่วโมง ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้หากคุณมาช้าไปก้าวเดียว คุณก็จะต้องรอไปอีกครึ่งชั่วโมง ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยนไปทันที -_-!

ก่อนออกจากบ้าน คุณสามารถเช็คตารางเดินรถได้จาก webside ของ translink ผู้ให้บริการ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และ Seabus หรือเรือเฟอร์รี่ข้ามทะเลจาก Vancouver ไปยัง North Vancouver นั่นเอง เวปที่ว่า ก็คือ www.translink.ca
ป้ายรถเมล์ในแวนคูเวอร์ ก็จะมี Collection กิ๊บเก๋ แตกต่างกันออกไป
อันนี้เป็นป้ายใหญ่ อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า (สังเกตได้จาก อักษร T ตัวใหญ่ หมายถึง Trian)
อย่างป้ายนี้มีรถเมล์ผ่าน 5 สาย แต่ละสายจะบอกพิกัดว่าสุดสายที่ไหน เพื่อป้องกันการขึ้นผิดทาง ส่วนกล่องสี่เหลี่ยมด้านล่าง คือ ตารางเวลาที่รถแต่ละสายจะเข้าจอดที่ป้ายนี้
เข้าไปดูใกล้ ๆ
กรณีที่มีรถจอดแค่สายเดียว ก็ทำตารางเวลาเป็นกระบอกกลม ๆ แบบนี้
อันนี้ไฮเทค มีตัววิ่งบอกว่า อีกกี่นาทีรถจะจอดป้าย
ถ้าเริ่มห่างไกลเมืองใหญ่ ภายรถเมล์ก็ออกแนวธรรมดา ๆ
และบางทีป้ายรถเมล์ก็จะเป็นแค่เสาและแถบเล็ก ๆ เขียนว่า Bus stop บางครั้งก็มองไม่เห็น...เดินเลยป้าย ฮ่าฮ่า
ถ้าเป็นแบบนี้ละก้อ แสดงว่ามีรถผ่านอยู่สายเดียว ไม่บอกว่าเป็นสายอะไรเพราะเป็นที่รู้กัน (ของคนละแวกนั้น) แล้วก็มีแนวโน้มจะนาน ๆ มาที
แต่ถึงกระนั้น Translink เค้าก็มีบริการ Next Bus SMS นั่นคือ คุณสามารถเช็คตารางเวลารถได้โดยการส่ง SMS หมายเลข Bus stop ที่คุณยืนอยู่ ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ 33333 ตารางเวลาจอดป้ายของรถเมล์คันถัดไปก็จะถูกส่งผ่านมือถือของคุณทันที
หมายเลข Bus stop ที่ว่า ก็คือ เลขสีเหลือง ๆ 5 ตัวที่ปรากฎอยู่บนป้ายรถเมล์น้อยใหญ่เหล่านั้น นั่นเอง

อัตราค่าโดยสารในแวนคูเวอร์และปริมณฑล (ปริมณฑลในที่นี้หมายถึง เมืองใกล้เคียงต่าง ๆ ที่ translink แผ่ขยายเส้นทางไปถึง เช่น Richmond, Burnaby, Port Moody ฯลฯ เรียกเล่น ๆ อย่าจริงจังไปนะคะ) จะอยู่ในราคาเดียวกันทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 อัตรา คือ
Zone 1 หรือ อยู่ในเขตแวนคูเวอร์ ค่าโดยสารจะถูกที่สุด คือ $2.50
Zone 2 คือ เมืองที่อยู่รอบแวนคูเวอร์ หรือจะเรียกตามสมัยอยุธยาว่า เป็นหัวเมืองชั้นใน เช่น North Vancouver, Burnaby, Richmond, New Westminster ถ้าคุณต้องเดินทางข้ามจาก Zone 1 มา Zone 2 ค่าโดยสารจะแพงขึ้นมาหน่อย เป็น $ 3.75
Zone 3 คือ เมืองที่อยู่รอบแวนคูเวอร์แต่อยู่ถัดจากหัวเมืองชั้นในมาอีก step นึง หรือจะเรียกว่า หัวเมืองชั้นนอก ก็ได้ เช่น Surrey, Delta, White Rock, Coquitlam ถ้าคุณจะเดินทางจาก Zone 1 ผ่าน Zone 2 มายัง Zone 3  ค่าโดยสารก็จะแพงที่สุด เป็น $ 5.00

ทั้งนี้ ถ้าคุณเดินทางแต่เฉพาะใน Zone 2 อย่างเดียว หรือ Zone 3 อย่างเดียว คุณก็จ่ายค่าโดยสารในอัตรของ Zone 1 หรือถ้าคุณเดินทางแค่จาก Zone 2 มา Zone 3 คุณก็จ่ายค่าโดยสารในอัตราของ Zone 2 พูดง่าย ๆ คือ ดูว่า คุณเดินทางข้ามเขตมาหรือเปล่า
เพื่อให้เห็นภาพ Translink ได้แบ่งโซนให้เราดูตามนี้ค่ะ สีเหลืองคือ Zone 1 สีแดงคือ Zone 2 และสีเขียวคือ Zone 3

Fare zone map จาก www.translink.ca

วิธีการจ่ายค่าโดยสารก็มีหลากหลาย เช่น หยอดตังค์ซื้อตั๋วจาก Ticket Machine ซื้อเป็นหรือซื้อตั๋วเหมาจ่ายแบบ Monthly Pass หรือ Day pass ก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคน

สำหรับการขึ้นรถเมล์ในแวนคูเวอร์ คุณก็จะต้องหยอดเหรียญซื้อตั๋วที่เครื่อง Ticket Machine ที่ตั้งอยู่ข้างกายคนขับ แต่ถ้าคุณถือบัตร Monthly pass หรือ Day pass คุณก็โชว์ให้คนขับดู เป็นอันเสร็จพิธี
จากตรงนี้ บอกให้รู้ว่า เวลาขึ้นรถเมล์ในแวนคูเวอร์และปริมณฑล ให้ขึ้นประตูหน้าเท่านั้น แต่ตอนลง จะลงประตูหน้าหรือประตูหลังก็ได้

ที่ชอบอีกอย่างสำหรับรถเมล์ที่นี่ก็คือ การที่เค้าให้ความสำคัญกับ คนแก่ คนพิการที่ใช้รถเข็น พวกเค้าสามารถขึ้นรถเมล์เองได้ง่าย ๆ สะดวกสบายแบบนี้ค่ะ
พื้นรถตรงประตูทางขึ้นสามารถกางออกเป็นสะพานเชื่อมกับขอบถนน
กางออกเรียบร้อยแล้ว
คุณยายสามารถขับรถเข็นขึ้นไปอย่างง่ายดาย
จากนั้น พื้นก็จะค่อย ๆ พับตัวเก็บอย่างช้า ๆ
ช้า ช้า...
เสร็จเรียบร้อย ช่างดีจริง
ภายในรถ จากออกแบบโซนหน้ารถให้กว้างขวาง มีเก้าอี้เป็นแบบพับได้ สำหรับคนแก่และคนพิการ หรือ รถเข็นเด็ก
ดังนั้น ถ้าคุณไปนั่งอยู่ในโซนนี้ ก็ต้องคอยดูว่า มีคนแก่ คนพิการ รถเข็นเด็ก ขึ้นมารึเปล่า ถ้ามีคุณก็ต้องรีบลุกทันที ไม่งั้น สายตาประณามหยามเหยียดจากคนทั้งคันรถก็จะพุ่งเป้ามาที่คุณ และถ้าคุณยังคงนั่งอยู่ต่อไป อาจจะไม่ใช่แค่สายตา..คนที่นี่ มีอะไร เค้าก็พูดกันตรง ๆ เอื๊อก!
และถ้าสังเกตที่หน้ารถ จะเห็นว่า เค้ามีตัววิ่งบอกพร้อมกับเสียงประกาศ ว่าป้ายหน้าจะจอดที่ไหน จุดประสงค์ก็มีไว้เพื่อ คนตาบอดและคนหูหนวก คนต่างถิ่นอย่างเรา ๆ ก็พลอยได้อานิสงค์ไปด้วย ช่วยให้การเดินทางมันง่ายขึ้นจริง ๆ นะคะ

ความจริงรถเมล์ในหลาย ๆ ประเทศเค้าก็มีอะไรกันแบบนี้ ก็อยากให้รถเมล์ไทยมีบ้าง มันดีมาก ๆ สำหรับคนแก่และคนพิการ รวมถึงนักท่องเที่ยว นึกภาพถ้านักท่องเที่ยวจะลองขึ้นรถเมล์ไทย มันดูมืดแปดด้านพิลึก พอขึ้นรถไปได้ปุ๊ป รถเมล์พาวิ่งไปทางไหนไม่รู้เลย จะลงถูกมั้ยเนี่ย เหอ ๆ
พูดถึงลงรถ สำหรับรถเมล์ในแวนคูเวอร์ เค้ากดกริ่งด้วยการกระตุกเชือกสีเหลืองที่ร้อยอยู่ข้างรถค่ะ บางทีก็เจอแบบปุ่มกดที่คุ้นเคยบ้าง แต่แบบเป็นเชือกนี่ แรก ๆ ไม่ชิน ก็แอบงง ฮ่าฮ่า
เชือกสีเหลือง ลักษณะเหมือนเอ็นร้อยผ้าม่าน
อย่างสุดท้าย อันนี้รถเมล์ไทยไม่มี ไม่เป็นไร เพราะคิดว่า ส่วนหนึ่งจะมาจาก Life style ของคนที่นี่ นั่นคือ ที่เก็บจักรยาน
คนแถวนี้ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง การปั่นจักรยานอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประจำวันของบางคน หรือบางทีในวันหยุดก็บรรทุกจักรยานออกจากบ้านไปขี่เล่นบนภูเขาบ้าง ตามชายหาดบ้าง หรือในสวนสาธารณะบ้าง ถ้าไม่มีรถส่วนตัว รถโดยสารประจำทางสามารถช่วยคุณได้ ภายใต้แคมเปญ ที่ชื่อว่า Bike on Bus
ถ้ายามปกติ มันก็จะพับอยู่หน้ารถเช่นนี้

เวลาใช้งาน จักรยานจะถูกเทินไว้หน้ารถแบบนี้แหละค่า ดู ๆ ไป ก็น่ารักดี (ภาพจาก www.translink.ca )
เป็นหน้าที่ของเจ้าของจักรยานในการเอาจักรยานไว้ที่หน้ารถ แล้วก็เอาลงเองเมื่อถึงจุดหมาย

Sunday, April 29, 2012

North Vancouver จุดหมายของนักสกีและสโนว์บอร์ด

หากคุณยืนอยู่ใน downtown แวนคูเวอร์ คุณมองหาทิศเหนือได้ไม่ยาก เพียงแค่หันหน้าไปทางที่มีภูเขาใหญ่ตั้งตระหง่านและอยู่ใกล้คุณมากที่สุด นั่นแหละ ใช่เลย...ทิศเหนือแน่ ๆ ภูเขาพวกนี้ตั้งอยู่ใน North Vancouver ซึ่งจัดเป็นอีกหัวเมืองนึงในรัฐ British Columbia ประเทศแคนาดา ภูเขาที่เห็นนั้น หนึ่งคือ Grouse Mountain และสองคือ Seymour Mountain

จาก downtown แวนคูเวอร์ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมง คุณก็สามารถสนุกกับกิจกรรมฤดูหนาว เช่น สกี สโนว์บอร์ด เดินป่าด้วยรองเท้าย่ำหิมะ (Snowshoeing) ฯลฯ หรือบางคนก็พาสุนัขไปเดินเล่นก็มี เค้าให้เหตุผลว่า ช่วงฤดูหนาวบนภูเขาแบบนี้ เป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับให้สุนัขวิ่งเล่นได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องมีสายคล้องคอ เนื่องจากเป็นช่วงที่สัตว์ป่าจำศีล ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน สัตว์ป่าอาจจะเป็นอันตรายสำหรับสัตว์เลี้ยงของพวกเค้าได้ มีบางคนบอกว่าเค้าไปขึ้นเขาทุกสัปดาห์เลยค่ะ นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสุขของชาวแวนคูเวอร์ในช่วงฤดูหนาวแบบนี้

พูดถึงที่แรกก่อน นั่นคือ Grouse Mountain คุณสามารถไป Grouse Mountain ได้ง่าย ๆ เพียงแค่นั่งรถประจำทางจากดาวน์ทาวน์ ไปครึ่งชั่วโมง แต่คุณจะต้องเสียค่า Gondola เพื่อขึ้นไปยังยอดเขา ราคาปกติจะอยู่ที่ราว $58 โดยไม่รวมภาษี ดังนั้น แนะนำให้ลองติดต่อเอเจ้นท์หรือบริษัทท่องเที่ยวในเมืองก่อน คุณอาจจะได้ราคาตั๋ว หรือที่เรียกว่า lift ticket ที่ถูกกว่านี้
วันนี้ดิฉันมา Grouse Mountain เพื่อมาหัดเล่นสโนว์บอร์ดเป็นครั้งแรกในชีวิต ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนชาวเกาหลี ดิฉันเช่าอุปกรณ์ที่ประกอบด้วย รองเท้า สโนว์บอร์ด และ lift ticket มาในสนนราคา $40 จากนั้นเราก็หอบหิ้วอุปกรณ์นั่งหรือเฟอร์รี่ที่คนแถบนี้เรียกว่า Seabus ข้ามฝากมายังฝั่ง North Vancouver แล้วต่อด้วยรถเมล์
หน้าตา lift ticket เป็นแบบนี้ค่ะ
ลงรถเมล์ปุ๊ป ก็เจอป้ายบอกทางไปขึ้น Gondola
ซุ้มขายบัตรหน้างาน ฮี่ ๆ เรามีตั๋วแล้วก็เดินผ่านฉลุยเข้าไปเลย
จากนั้นก็ยืนรอ Gondola ที่ค่อย ๆ เคลื่อนตัวลงมา
ในฤดูร้อน Grouse Mountain ก็เปิดให้คนรักธรรมชาติมาปีนเขาเล่นเช่นกัน และไม่ต้องเสียค่าขึ้น Gondola แบบนี้ แต่เข้าใจว่า คุณอาจจะต้องเสียค่าลิฟต์ตอนขาลง เพราะแค่เดินขึ้น คุณก็หมดแรงแล้ว ข้อมูลตามเวปไซต์ที่แนะนำการท่องเที่ยวบอกว่า การปีนเขา Grouse Mountain เป็นอะไรที่ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจ จัดอยู่ในระดับการปีนเขาที่เรียกว่ายาก ใช้เวลาในการปีนโดยประมาณ 2 ชั่วโมง (แต่ความเป็นจริงอาจมากกว่านั้น จากคำบอกเล่าของผู้มีประสบการณ์) ดั้งนั้น ในฤดูร้อนเราจะต้องกลับมาท้าทายความสามารถกันอีกครั้ง ฮ่าฮ่า
คนแน่นมาก ๆ เหมือน BTS ยาม Rush hour บ้านเราเลย ทุกคนมาเพื่อเล่นสกีและสโนว์บอร์ด
ช่วงที่ไปถึง คือประมาณ 4 โมงย็น ก็ได้แดดสีชมพู ๆ แบบนี้
เหมือนหมู่บ้านตุ๊กตาเลย
ที่เห็นว่ามีกรวยตั้งอยู่คือ ลานสเก็ต
พอตกดึก เราก็จะเห็นภาพสวย ๆ ของแสงไฟจากเมืองแวนคูเวอร์เป็น Background แบบนี้

ขอย้ายมาที่ Seymour Mountain กันบ้าง การมาที่ Seymour Mountain อาจจะยุ่งยากสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่มีรถส่วนตัว เพราะรถเมล์เข้าไม่ถึง คุณจะต้องนั่งรถ shuttle bus เพื่อขึ้นไปยังยอดเขาอีกต่อนึง ราคาประมาณ $20
วันนี้มากับทัวร์ที่โรงเรียนสอนภาษา เป้าหมายคือ มาเดินป่าด้วยรองเท้าย่ำหิมะ หรือ snowshoeing นั่นเอง
หน้าตาของ snowshoes เป็นอย่างนี้ค่ะ
ช่วงที่มาคือ ประมาณต้นเดือนเมษายน เรียกว่าเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ในดาวน์ทาวน์ เริ่มมีซากุระบานกันแล้ว แต่บนภูเขาก็ยังมีหิมะให้เห็นกันอยู่เพียบ ๆ
สังเกตดูที่ตีนเขาไม่มีหิมะเลย
พอเริ่มใกล้ยอดเขาเริ่มเห็นหิมะตามรายทางแล้ว
พอมาถึงจุดหมาย ก็เห็นหิมะเพียบ ๆ
เริ่มออกเดินทางได้ ปลายทางคือ ยอดเขา Seymour Mountain
รองเท้าย่ำหิมะจะช่วยให้เราไม่ลื่นเวลาเดินขึ้นเขา
บางคนก็บอกว่าเดินยาก แต่ถ้าวัดจากความรู้สึกตัวเองก็ ไม่อะไรมากนา
เจอน้องหมาตัวแรก
และน้องหมาตัวที่สอง เดินกันชิว ไม่ต้องใช้ snowshoes เลย
เห็นหิมะกองเนียน ๆ อยากพุ่งตัว เอาหัวปัก
ขอน้ำแดงกะนมข้นหวานมาทำน้ำแข็งใสกินหน่อย
ดูหิมะให้สะใจ กว่าจะเจอกันอีกทีคงเป็นหนาวหน้า
เดินมาเกือบ 45 นาที น่าจะใกล้ถึงยอดเขาแล้วมั้ง
ดูดี ๆ จะเห็นทะเลและดาวน์ทาวน์แวนคูเวอร์อยู่ลิบ ๆ หลังยอดไม้
สงสัยจะต้องหยุดแค่นี้ เพราะคนที่เดินสวนมาบอกว่า ยอดเขา Seymour จริง ๆ อยู่ นู้นนนนนนนน ไกลพ้นนนนนนน
หลังจากที่เดินมากว่า 2 ชั่วโมง นี่คือจุดหมายปลายทางของเราในวันนี้
จากนั้นก็เดินย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น ในส่วนที่เป็นลานสกี
ถ้าพูดถึงระดับความยากในการเล่นสกีที่ Seymour Mountain โดยเปรียบเทียบกับ Grouse Mountain คำตอบคือ ที่ Seymour Mountain จะง่ายกว่า
ภาพสุดท้าย ก่อนจะบ๊าย บาย Seymour Mountain
มีที่เล่นสกีอีกแห่งนึง ซึ่งเป็นที่ยอดฮิตอยู่ใน West Vancouver ชื่อว่า Cypress Mountain แต่ยังไม่เคยไปค๊า หนาวนี้ไม่ทันแล้วเพราะเค้าปิดซะแล้ว ได้ยินว่าสุดยอดเหมือนกัน เพราะเป็นสถานที่ใช้จัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวด้วย หวังว่าคงได้เจอกันหนาวหน้าน๊า