Saturday, May 12, 2012

รถเมล์ในแวนคูเวอร์


การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในแวนคูเวอร์นี่สะดวกและกะเวลาได้ เพราะรถไม่ติดและรถเมล์ที่นี่จะจอดป้ายตามตารางเวลา ความถี่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดประชากรที่ใช้บริการ ถ้าเป็นสายที่วิ่งในแหล่งชุมชน หรือในช่วงเวลาเร่งด่วน รถเมล์ก็อาจจะมาทุก 10 – 15 นาที แต่ถ้าอยู่ในย่านรกร้างห่างไกลหน่อย รถเมล์ก็อาจจะมาทุก ๆ 20 นาที หรือครึ่งชั่วโมง ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้หากคุณมาช้าไปก้าวเดียว คุณก็จะต้องรอไปอีกครึ่งชั่วโมง ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยนไปทันที -_-!

ก่อนออกจากบ้าน คุณสามารถเช็คตารางเดินรถได้จาก webside ของ translink ผู้ให้บริการ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และ Seabus หรือเรือเฟอร์รี่ข้ามทะเลจาก Vancouver ไปยัง North Vancouver นั่นเอง เวปที่ว่า ก็คือ www.translink.ca
ป้ายรถเมล์ในแวนคูเวอร์ ก็จะมี Collection กิ๊บเก๋ แตกต่างกันออกไป
อันนี้เป็นป้ายใหญ่ อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า (สังเกตได้จาก อักษร T ตัวใหญ่ หมายถึง Trian)
อย่างป้ายนี้มีรถเมล์ผ่าน 5 สาย แต่ละสายจะบอกพิกัดว่าสุดสายที่ไหน เพื่อป้องกันการขึ้นผิดทาง ส่วนกล่องสี่เหลี่ยมด้านล่าง คือ ตารางเวลาที่รถแต่ละสายจะเข้าจอดที่ป้ายนี้
เข้าไปดูใกล้ ๆ
กรณีที่มีรถจอดแค่สายเดียว ก็ทำตารางเวลาเป็นกระบอกกลม ๆ แบบนี้
อันนี้ไฮเทค มีตัววิ่งบอกว่า อีกกี่นาทีรถจะจอดป้าย
ถ้าเริ่มห่างไกลเมืองใหญ่ ภายรถเมล์ก็ออกแนวธรรมดา ๆ
และบางทีป้ายรถเมล์ก็จะเป็นแค่เสาและแถบเล็ก ๆ เขียนว่า Bus stop บางครั้งก็มองไม่เห็น...เดินเลยป้าย ฮ่าฮ่า
ถ้าเป็นแบบนี้ละก้อ แสดงว่ามีรถผ่านอยู่สายเดียว ไม่บอกว่าเป็นสายอะไรเพราะเป็นที่รู้กัน (ของคนละแวกนั้น) แล้วก็มีแนวโน้มจะนาน ๆ มาที
แต่ถึงกระนั้น Translink เค้าก็มีบริการ Next Bus SMS นั่นคือ คุณสามารถเช็คตารางเวลารถได้โดยการส่ง SMS หมายเลข Bus stop ที่คุณยืนอยู่ ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ 33333 ตารางเวลาจอดป้ายของรถเมล์คันถัดไปก็จะถูกส่งผ่านมือถือของคุณทันที
หมายเลข Bus stop ที่ว่า ก็คือ เลขสีเหลือง ๆ 5 ตัวที่ปรากฎอยู่บนป้ายรถเมล์น้อยใหญ่เหล่านั้น นั่นเอง

อัตราค่าโดยสารในแวนคูเวอร์และปริมณฑล (ปริมณฑลในที่นี้หมายถึง เมืองใกล้เคียงต่าง ๆ ที่ translink แผ่ขยายเส้นทางไปถึง เช่น Richmond, Burnaby, Port Moody ฯลฯ เรียกเล่น ๆ อย่าจริงจังไปนะคะ) จะอยู่ในราคาเดียวกันทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 อัตรา คือ
Zone 1 หรือ อยู่ในเขตแวนคูเวอร์ ค่าโดยสารจะถูกที่สุด คือ $2.50
Zone 2 คือ เมืองที่อยู่รอบแวนคูเวอร์ หรือจะเรียกตามสมัยอยุธยาว่า เป็นหัวเมืองชั้นใน เช่น North Vancouver, Burnaby, Richmond, New Westminster ถ้าคุณต้องเดินทางข้ามจาก Zone 1 มา Zone 2 ค่าโดยสารจะแพงขึ้นมาหน่อย เป็น $ 3.75
Zone 3 คือ เมืองที่อยู่รอบแวนคูเวอร์แต่อยู่ถัดจากหัวเมืองชั้นในมาอีก step นึง หรือจะเรียกว่า หัวเมืองชั้นนอก ก็ได้ เช่น Surrey, Delta, White Rock, Coquitlam ถ้าคุณจะเดินทางจาก Zone 1 ผ่าน Zone 2 มายัง Zone 3  ค่าโดยสารก็จะแพงที่สุด เป็น $ 5.00

ทั้งนี้ ถ้าคุณเดินทางแต่เฉพาะใน Zone 2 อย่างเดียว หรือ Zone 3 อย่างเดียว คุณก็จ่ายค่าโดยสารในอัตรของ Zone 1 หรือถ้าคุณเดินทางแค่จาก Zone 2 มา Zone 3 คุณก็จ่ายค่าโดยสารในอัตราของ Zone 2 พูดง่าย ๆ คือ ดูว่า คุณเดินทางข้ามเขตมาหรือเปล่า
เพื่อให้เห็นภาพ Translink ได้แบ่งโซนให้เราดูตามนี้ค่ะ สีเหลืองคือ Zone 1 สีแดงคือ Zone 2 และสีเขียวคือ Zone 3

Fare zone map จาก www.translink.ca

วิธีการจ่ายค่าโดยสารก็มีหลากหลาย เช่น หยอดตังค์ซื้อตั๋วจาก Ticket Machine ซื้อเป็นหรือซื้อตั๋วเหมาจ่ายแบบ Monthly Pass หรือ Day pass ก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคน

สำหรับการขึ้นรถเมล์ในแวนคูเวอร์ คุณก็จะต้องหยอดเหรียญซื้อตั๋วที่เครื่อง Ticket Machine ที่ตั้งอยู่ข้างกายคนขับ แต่ถ้าคุณถือบัตร Monthly pass หรือ Day pass คุณก็โชว์ให้คนขับดู เป็นอันเสร็จพิธี
จากตรงนี้ บอกให้รู้ว่า เวลาขึ้นรถเมล์ในแวนคูเวอร์และปริมณฑล ให้ขึ้นประตูหน้าเท่านั้น แต่ตอนลง จะลงประตูหน้าหรือประตูหลังก็ได้

ที่ชอบอีกอย่างสำหรับรถเมล์ที่นี่ก็คือ การที่เค้าให้ความสำคัญกับ คนแก่ คนพิการที่ใช้รถเข็น พวกเค้าสามารถขึ้นรถเมล์เองได้ง่าย ๆ สะดวกสบายแบบนี้ค่ะ
พื้นรถตรงประตูทางขึ้นสามารถกางออกเป็นสะพานเชื่อมกับขอบถนน
กางออกเรียบร้อยแล้ว
คุณยายสามารถขับรถเข็นขึ้นไปอย่างง่ายดาย
จากนั้น พื้นก็จะค่อย ๆ พับตัวเก็บอย่างช้า ๆ
ช้า ช้า...
เสร็จเรียบร้อย ช่างดีจริง
ภายในรถ จากออกแบบโซนหน้ารถให้กว้างขวาง มีเก้าอี้เป็นแบบพับได้ สำหรับคนแก่และคนพิการ หรือ รถเข็นเด็ก
ดังนั้น ถ้าคุณไปนั่งอยู่ในโซนนี้ ก็ต้องคอยดูว่า มีคนแก่ คนพิการ รถเข็นเด็ก ขึ้นมารึเปล่า ถ้ามีคุณก็ต้องรีบลุกทันที ไม่งั้น สายตาประณามหยามเหยียดจากคนทั้งคันรถก็จะพุ่งเป้ามาที่คุณ และถ้าคุณยังคงนั่งอยู่ต่อไป อาจจะไม่ใช่แค่สายตา..คนที่นี่ มีอะไร เค้าก็พูดกันตรง ๆ เอื๊อก!
และถ้าสังเกตที่หน้ารถ จะเห็นว่า เค้ามีตัววิ่งบอกพร้อมกับเสียงประกาศ ว่าป้ายหน้าจะจอดที่ไหน จุดประสงค์ก็มีไว้เพื่อ คนตาบอดและคนหูหนวก คนต่างถิ่นอย่างเรา ๆ ก็พลอยได้อานิสงค์ไปด้วย ช่วยให้การเดินทางมันง่ายขึ้นจริง ๆ นะคะ

ความจริงรถเมล์ในหลาย ๆ ประเทศเค้าก็มีอะไรกันแบบนี้ ก็อยากให้รถเมล์ไทยมีบ้าง มันดีมาก ๆ สำหรับคนแก่และคนพิการ รวมถึงนักท่องเที่ยว นึกภาพถ้านักท่องเที่ยวจะลองขึ้นรถเมล์ไทย มันดูมืดแปดด้านพิลึก พอขึ้นรถไปได้ปุ๊ป รถเมล์พาวิ่งไปทางไหนไม่รู้เลย จะลงถูกมั้ยเนี่ย เหอ ๆ
พูดถึงลงรถ สำหรับรถเมล์ในแวนคูเวอร์ เค้ากดกริ่งด้วยการกระตุกเชือกสีเหลืองที่ร้อยอยู่ข้างรถค่ะ บางทีก็เจอแบบปุ่มกดที่คุ้นเคยบ้าง แต่แบบเป็นเชือกนี่ แรก ๆ ไม่ชิน ก็แอบงง ฮ่าฮ่า
เชือกสีเหลือง ลักษณะเหมือนเอ็นร้อยผ้าม่าน
อย่างสุดท้าย อันนี้รถเมล์ไทยไม่มี ไม่เป็นไร เพราะคิดว่า ส่วนหนึ่งจะมาจาก Life style ของคนที่นี่ นั่นคือ ที่เก็บจักรยาน
คนแถวนี้ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง การปั่นจักรยานอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประจำวันของบางคน หรือบางทีในวันหยุดก็บรรทุกจักรยานออกจากบ้านไปขี่เล่นบนภูเขาบ้าง ตามชายหาดบ้าง หรือในสวนสาธารณะบ้าง ถ้าไม่มีรถส่วนตัว รถโดยสารประจำทางสามารถช่วยคุณได้ ภายใต้แคมเปญ ที่ชื่อว่า Bike on Bus
ถ้ายามปกติ มันก็จะพับอยู่หน้ารถเช่นนี้

เวลาใช้งาน จักรยานจะถูกเทินไว้หน้ารถแบบนี้แหละค่า ดู ๆ ไป ก็น่ารักดี (ภาพจาก www.translink.ca )
เป็นหน้าที่ของเจ้าของจักรยานในการเอาจักรยานไว้ที่หน้ารถ แล้วก็เอาลงเองเมื่อถึงจุดหมาย